กลุ่มเมืองโบราณอาณาจักรพยู (PYU ANCIENT CITIES)
ที่มาและความสำคัญ
กลุ่มเมืองโบราณอาณาจักรพยู (Pyu Ancient Cities) ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งแรกของเมียนมาร์ โดยรวมไปถึงพื้นที่ของเมืองโบราณศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน ในราวพุทธศตวรรษที่ 4
อาณาจักรศรีเกษตรเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ขนาดกว้างขวาง กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของลุ่มน้ำอิรวดี โดยอาณาจักรศรีเกษตรนี้ ได้รับอิทธิพล ในเรื่องของภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และ พระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย โดยสันนิษฐานว่าชื่อเมืองศรีเกษตร อาจได้มาจากชื่อเมืองโบราณในอินเดีย คือเมืองปุรี ในแคว้นโอริสสา
เมืองศรีเกษตรปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองแปร นอกจากนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันยังพบหลักฐานการก่อตั้งชุมชนของชาวพยูในเมืองเบคถาโนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองพุกามประมาณ 100 กิโลเมตร และเมืองฮาลินอยู่ทางทิศเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ก่อนที่จะเสื่อมไป เนื่องจากถูกกลุ่มคนไตจากน่านเจ้ายกกองทัพลงมาตีและกวาดต้อนผู้คนชาวพยูไปอยู่ที่เมืองจาตุง ตอนใต้ของจีนบริเวณเมืองคุณหมิงปัจจุบัน
แต่ในปัจจุบันนี้ ทั้งศรีเกษตร เปียทะโนมโย และหะลินยี แทบจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ ในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีเพียงซากปรักหักพัง ของโบราณสถาน เพราะยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือเจดีย์ ซากเมืองโบราณ คูน้ำ กำแพงเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ปัจจุบันนี้ แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าของชาวพยู คงจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น จากยูเนสโกและประเทศพม่าเอง เพราะเมืองโบราณแห่งนี้ ไม่ได้เป็นสมบัติของประเทศพม่าเท่านั้น แต่เมืองเก่านับพันปีแห่งนี้จะเป็นสมบัติของคนทั้งโลก ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาสืบต่อไป
ที่ตั้ง
ที่ตั้งของเมืองศรีเกษตร เปียทะโนมโย และหะลินยี ในยุคโบราณ
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
กลุ่มเมืองโบราณอาณาจักรพะยู ได้รับการจัดตั้งให้เป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา จำนวน 3 ข้อ ดังนี้
-เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกไว้ซึ่งวัฒนธรรม
-เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
-เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ